ห้องผ้ปู่วยพิเศษ ละมุนใจ ไกลโควิด

ห้องผู้ป่วยพิเศษ ละมุนใจ ไกลโควิด ศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศ (SMC) ด้วยนวัตกรรม AVA™ Anti Viral Allergy Free

ศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศ (SMC) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผนึกความร่วมมือครั้งสำคัญกับ บริษัท ไอเคคร๊าฟท์ จำกัดลุยโครงการวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์จาก “AVATM Anti-Viral Allergy Free” นวัตกรรมสิ่งทอต่อสู้โควิด-19 รองรับด้วยผลการวิจัยจากภาควิชาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันทดสอบระดับนานาชาติภายใต้มาตรฐาน ISO 18184 จากประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ยกระดับเป็นสถานพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย ที่นำนวัตกรรม AVATM มาใช้กับสิ่งทอทุกชนิด เปิดตัวใช้ใน ห้องผู้ป่วยพิเศษละมุนใจ ไกลโควิดตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2564 นี้

ผศ.นพ. ชวกิจ ภูมิบุญชู รองคณบดีฝ่ายศูนย์ความเป็นเลิศและศูนย์กลางบริการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า SMC หรือศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คือหนึ่งในผู้นำความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ในยุคดิจิทัล มาผนวกเข้ากับความชำนาญของทีมบุคลากร เพื่อสร้างผลลัพธ์ของการรักษาที่มีคุณภาพในทุกสถานการณ์ เช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ SMC ได้นำความเชี่ยวชาญที่มีมาเตรียมการรองรับสถานการณ์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรมใหม่ จากการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่สามารถหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 มาใช้ใน ห้องผู้ป่วยพิเศษละมุนใจ ไกลโควิด

ห้องผู้ป่วยพิเศษละมุนใจ ไกลโควิด คือผลความสำเร็จจากโครงการวิจัยร่วมของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ  บริษัท ไอเคคร๊าฟท์ จำกัด ที่นำผลวิจัยไปพัฒนาเป็นเส้นใย ‘AVATM Anti Viral Allergy Free’ และนำผลิตภัณฑ์สิ่งทอในห้องทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็น ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าพาดเตียง ผ้าห่ม ผ้าม่านหัตถการ ผ้าม่านหน้าต่าง ผ้าเช็ดมือ พรมเช็ดเท้า หรือแม้แต่ ชุดที่ผู้ป่วยสวมใส่ เปลี่ยนไปเป็นนวัตกรรมผ้าเส้นใยพิเศษชนิดนี้ ที่ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย รวมถึงเชื้อโควิด-19 ซึ่งนับว่าศูนย์ SMC เป็นสถานพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย ที่นำนวัตกรรมนี้มาใช้กับสิ่งทอทุกชนิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ภายในศูนย์ฯ”

ด้าน ผศ.ดร. สุปราณี พันธุ์ธนวิบูลย์ นักวิจัย และอาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า “นวัตกรรมเส้นใย AVATM Anti-Viral Allergy Free จะมีสารชนิดพิเศษที่เข้าไปจับเชื้อไวรัส โดยสารดังกล่าวจะทำหน้าที่กะเทาะเปลือกโปรตีนและไขมันที่ห่อหุ้มเชื้อไวรัสนั้น จนทำให้เชื้อถูกทำลาย ทั้งยังทำการแทรกแซงกระบวนการผลิตโปรตีนของไวรัสตัวใหม่ พร้อมทั้งยับยั้งการถอดรหัสสารพันธุกรรม เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสมีการเพิ่มจำนวน ซึ่งด้วยหลักการนี้ จะทำให้เส้นใย AVA™ สามารถยับยั้งได้ทั้งโควิด-19 และไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์อื่นๆ อาทิ เมอร์ส, ซาร์ส รวมไปถึง เชื้อรา, แบคทีเรียที่เป็นห่วงโซ่อาหารของไรฝุ่น ที่เป็นต้นเหตุหลักของภูมิแพ้ได้อีกด้วย”

ภาควิชาจุลชีววิทยา ดำเนินการทดสอบโครงการวิจัยนี้ โดยการนำผ้าชนิดเส้นใย AVATM ไปเพาะกับเชื้อไวรัสที่มีค่าความเข้มข้น และให้เชื้อฟักตัวที่ระยะเวลาต่างๆ ได้แก่ 15 นาที, 30 นาที, 1 ชั่วโมง และ 2 ชั่วโมง จากนั้นนำเชื้อไวรัสมาทดสอบเพื่อหาปริมาณไวรัสที่เหลืออยู่ เปรียบเทียบกับผ้าที่ไม่ใช่เส้นใย AVA™ ผลคือผ้าที่มี AVATM จะใช้เวลาประมาณ 15 นาที สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ทั้งหมด อีกทั้งเส้นใย AVATM ยังได้รับผลการรับรองจากสถาบันทดสอบระดับนานาชาติภายใต้มาตรฐาน ISO 18184 กับ 3 สถาบัน ได้แก่ สถาบัน MSL ในประเทศอังกฤษ รับรองการยับยั้งเชื้อไวรัสได้ถึง 91.7% , สถาบัน SGS ในประเทศฮ่องกง รับรองการยับยั้งเชื้อไวรัสได้ถึง 99.17% และ สถาบัน Nelson Lab ในประเทศสหรัฐ รับรองการยับยั้งเชื้อไวรัสได้ถึง 99.37%